Highlights
Cognitive function คือ กระบวนการที่สมองใช้ในการรับข้อมูลและตัดสินใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทฤษฎีบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ หรือ MBTI
ประเภทของ cognitive function สามารถแบ่งได้โดยทิศทางของฟังก์ชั่น (Introversion, Extraversion) และชนิดของฟังก์ชั่นที่ใช้รับรู้ข้อมูล (Sensing, Intuition) ฟังก์ชั่นที่ใช้ตัดสินใจ (Thinking, Feeling)
กระบวนการการทำงานของ cognitive function ทั้ง 8 แบบจะบ่งบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน วิธีการรับข้อมูลและตัดสินใจที่บุคลิกภาพทั้ง 16 แบบมีแตกต่างกัน
เมื่อเรารู้จักความถนัดทั้ง 4 แบบใน MBTI ของตัวเองแล้ว เราอาจมีคำถามเกี่ยวกับคำอธิบายของบุคลิกภาพที่เราได้รับ คำถามที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคำถามที่เกิดขึ้นมานั้นสามารถใช้ cognitive function มาอธิบายได้
เนื้อหาในบทความ
Cognitive Function คืออะไร?
Cognitive function คือ กระบวนการที่สมองใช้ในการประมวลผลผ่านการรับข้อมูลและตัดสินใจสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นทฤษฎีพื้นฐานที่ถูกคิดค้นโดยนักจิตวิทยาชื่อ Carl Jung โดย cognitive function จะมีอยู่ทั้งหมด 8 ฟังก์ชั่น ซึ่งบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบที่แตกต่างกันนั้น ก็มีสาเหตุมาจากความแตกต่างของ cognitive function ที่แต่ละ type มีไม่เหมือนกันนั่นเอง โดยบางครั้งการรวมตัวของฟังก์ชั่นของแต่ละ type ก็อาจถูกเรียกว่าเป็น Type Dynamic หรือพลวัตของบุคลิกภาพใน MBTI
Cognitive Function สำคัญอย่างไร?
หลายคนที่ได้เรียนรู้เรื่อง MBTI หรือบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบในเบื้องต้นไปแล้ว มักจะพบว่าคำอธิบายของ type จากแหล่งต่างๆ ไม่สามารถอธิบายลักษณะบุคลิกภาพของเราได้ หรือบางครั้งเราอาจสับสนว่าเราเป็น type ใดกันแน่ เพราะบางบุคลิกภาพก็มีลักษณะตรงกับเราในบางช่วงเวลา ในบางโอกาส
การทำความเข้าใจเรื่อง cognitive function จะช่วยทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองด้วยความเข้าใจที่มากยิ่งขึ้น รู้จักสภาวะเมื่อเกิดความเครียด กับดักของบุคลิกภาพตัวเองที่มักจะพบ และวิธีออกจากสภาวะเหล่านั้น
นอกจากนั้น cognitive function ยังทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราควรทำเพื่อพัฒนาตัวเองสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งสำคัญมากในกระบวนการโค้ช เพราะในแต่ละ type จะมีฟังก์ชั่นที่เราไม่ถนัด เป็นฟังก์ชั่นที่เราไม่ค่อยได้ใช้งานที่แตกต่างกัน และเราก็สามารถทำความรู้จักcognitive function ใน type ของตัวเอง เพื่อพัฒนาฟังก์ชั่นเหล่านี้โดยตรงและปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
ประเภทของ Cognitive Function
Cognitive function มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 ฟังก์ชั่น ซึ่งมาจาก function พื้นฐานทั้งหมด 4 อย่าง (Sensing, Intuition, Thinking, Feeling) ที่เกิดขึ้นในทิศทางที่แต่ละ function ให้ความสนใจ (Introversion และ Extraversion) จนกลายเป็น cognitive function ทั้ง 8 แบบ นั่นคือ
โดยที่เราสามารถเริ่มรู้จักความแตกต่างของ cognitive function ทั้ง 8 ฟังก์ชั่นได้จากการเข้าใจประเภทของ cognitive function 2 รูปแบบนั่นคือ
Introverted Cognitive Function vs. Extraverted Cognitive Function
ใน cognitive function ทั้ง 8 แบบ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะของทิศทางการให้ความสนใจ หรือพื้นที่ที่ cognitive function เหล่านั้นทำงาน โดยแบ่งเป็น
Introverted Cognitive Function
Introvert function จะมีทิศทางเข้ามาด้านในตัวเอง ซึ่งหมายความว่าฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เป็นประเภท introvert จะมีความสนใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน
Introverted Sensing (Si) มีความเกี่ยวข้องกับ ความทรงจำในอดีต ความรู้สึกตัว การรับทางประสาทสัมผัสที่เกี่ยวข้องกับสิ่งภายใน
Introverted Intuition (Ni) มีความเกี่ยวข้องกับ ปัญญาที่ไม่ใช่การท่องจำ (insight) ความเชื่อมโยงของข้อมูล วิสัยทัศน์ ที่เกิดภายใน
Introverted Thinking (Ti) มีความเกี่ยวข้องกับ ตรรกะ กระบวนการ การให้เหตุผล
Introverted Feeling (Fi) มีความเกี่ยวข้องกับ อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง คุณค่า ความชอบ รสนิยม
Cognitive function ทั้ง 4 แบบที่มีลักษณะของ Introvert นี้จะมีทิศทางที่เข้ามาด้านใน นอกจากนี้ลักษณะของฟังก์ชั่นแบบ introvert cognitive function จะมีลักษณะโฟกัส มี scope ที่เล็ก และมีความเข้มข้นของความสนใจที่มากกว่า
Extraverted Cognitive Function
Extraverted function จะมีทิศทางออกไปด้านนอก ซึ่งหมายความว่าฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เป็นประเภท extravert จะให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอก
Extraverted Sensing (Se) มีความเกี่ยวข้องกับ การรับรู้ทางประสาทสัมผัสจากสิ่งภายนอก ประสบการณ์ภายนอก
Extraverted Intuition (Ne) มีความเกี่ยวข้องกับ การรับรู้และเชื่อมโยงความคิด ทฤษฎี หรือมองหาความเป็นไปใหม่ โอกาส ในโลกภายนอก
Extraverted Thinking (Te) มีความเกี่ยวข้องกับ การวิเคราะห์ กระบวนการ การดำเนินการของสิ่งที่อยู่ภายนอก
Extraverted Feeling (Fe) มีความเกี่ยวข้องกับ การเชื่อมโยงระหว่างผู้คน การรับรู้ความต้องการของคนอื่น การรับรู้บรรทัดฐานของสังคมหรือวัฒนธรรม
Cognitive function ทั้ง 4 แบบที่มีลักษณะของ Extravert นี้จะมีทิศทางที่ออกไปสู่ภายนอก นอกจากนี้ลักษณะของฟังก์ชั่นแบบ extravert cognitive function จะมีลักษณะกว้างขวาง มีความหลากหลาย กว่า และมีความสนใจที่ขยายออกไปเรื่อยๆ มากกว่า
Judging Cognitive Function vs. Perceiving Cognitive Function
นอกจากนี้ คุณลักษณะที่สำคัญของ cognitive function ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือหน้าที่ของ cognitive function นั้น ซึ่งจะมีอยู่สองแบบนั่นคือ
Judging Cognitive Function
Judging function คือ ฟังก์ชั่นที่มีหน้าที่หาข้อสรุป ประเมินผล หรือตัดสินใจ ซึ่งเกิดจาก Thinking (T) และ Feeling (F) นั่นเอง
ซึ่งใน cognitive function ทั้งหมดจะมี 4 ฟังก์ชั่นที่เป็น judging function นั่นคือ
Ti (Introverted thinking) เป็นฟังก์ชั่นที่จะใช้เหตุผล ลำดับตรรกะไปที่ตัวเอง โดยอาจมีทิศทางไปที่ตัวเอง มุมมองที่เป็นกลาง หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นความจริงสูงสุด ก็ได
Te (Extraverted thinking) เป็นฟังก์ชั่นที่จะใช้ตรรกะ การใช้เหตุผล ลำดับขั้น ไปกับโลกภายนอก มีทิศทางการใช้เหตุผลไปกับโลกภายนอก
Fi (Introverted Feeling) เป็นฟังก์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก คุณค่า ศีลธรรม ซึ่งฟังก์ชั่นนี้จะใช้สิ่งเหล่านั้นไปที่ตัวเอง ตรวจสอบควบคุมตัวเอง
Fe (Extraverted Feeling) เป็นฟังก์ชั่นที่จัดลำดับและค้นหาอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ โดยจะเป็นสิ่งที่อยู่ภ่ยนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับชุมชน สังคม ศีลธรรม การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน
Perceiving Cognitive Function
Perceiving function คือ เป็นฟังก์ชั่นที่มีหน้าที่รับข้อมูลจากสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดจาก Sensing (S) และ Intuition (N) นั่นเอง
ซึ่งใน cognitive function ทั้งหมดจะมี 4 ฟังก์ชั่นที่เป็น perceiving function นั่นคือ
Introverted Sensing (Si) เป็นฟังก์ชั่นที่เก็บรวบควมข้อมูลในอดีต เรียกความทรงจำในอดีตกลับมา ทำให้ประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นดูสดใหม่ และยังรวมถึงการตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายภายในด้วย
Extraverted Sensing (Se) เป็นฟังก์ชั่นที่สำรวจการรับรู้ภายนอก ค้นหาและรับรู้ประสบการณ์จากภายนอก มีลักษณะเปิดกว้างและไม่ตัดสินสิ่งต่างๆ
Introverted Intuition (Ni) เป็นฟังก์ชั่นที่สังเคราะห์องค์ความรู้ คำตอบ เชื่อมโยงข้อมูล ค้นหาคำอธิบาย ทฤษฎี
Extraverted Intuition (Ne) เป็นฟังก์ชั่นที่เชื่อมโยงและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ แนวความคิดอย่างมีเปิดกว้างและไม่แบ่งแยก
กระบวนการทำงานในเบื้องต้นของ Cognitive Function ทั้ง 8 แบบ
หลังจากที่เข้าทิศทางและประเภทของ cognitive function แล้ว เราสามารถเข้าใจการทำงานของ cognitive function ที่แตกต่างกันออกไปได้
โดยแต่ละฟังก์ชั่นมีลักษณะเด่นและการทำงานดังต่อไปนี้
Introverted Sensing (Si)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีทิศทางมาจากภายใน ซึ่งจะทำให้เกิดการรวบรวม ความทรงจำ ข้อมูล และประสบการณ์ที่ใกล้เคียงมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยประสบการณ์ที่ฟังก์ชั่น Si เรียกมานั้นจะเต็มไปด้วยรายละเอียดและเสมือนจริง
เรียกประสบการณ์ที่สมจริงในอดีตมาแสดงให้มีประสบการณ์อีกครั้ง
เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ที่เผชิญอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมา
Extraverted Sensing (Se)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นกลาง โดยจะเป็นข้อมูลที่มาจากโลกภายนอกหรือเป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ผ่านประสาทสัมผัสเหล่านั้น
ให้ความสำคัญกับแสวงหาข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้ง 5
เปิดรับต่อสิ่งต่างๆ ภายนอกอย่างเป็นกลาง
Introverted Intuition (Ni)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล โดยให้ความสำคัญกับโลกภายใน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ มักจะเกี่ยวข้องกับรูปธรรม หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนามธรรมและรูปธรรม ฟังก์ชั่น Ni จึงมักมีความเกี่ยวข้องกับการค้นหาความสำคัญ ความเป็นระบบ ความหมายของสิ่งต่างๆ
ค้นหาความหมาย ความสำคัญ และรูปแบบสูงสุดที่ซ่อนอยู่ของสิ่งต่างๆ
มองทุกสิ่งในภาพที่กว้างที่สุดและซับซ้อนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
Extraverted Intuition (Ne)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งภายนอก เพื่อที่จะหาความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ผู้คน เหตุการณ์ และในสภาพแวดล้อม หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
มองหาความเป็นไปได้ในข้อมูล เหตุการณ์ สภาพแวดล้อม
เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในรูปแบบของความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างกัน
Introverted Thinking (Ti)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่ในกระบวนการตัดสินใจ เกี่ยวข้องกับหลักการที่อยู่ภายใต้ความจริง โดยจะสร้างระบบ หมวดหมู่ กรอบอ้างอิง (framework) ขึ้นมาเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ไปจัดเรียบเรียงด้วยการกระบวนการเชิงตรรกะ
วิเคราะห์เชิงตรรกะ เหตุผล อย่างมีลำดับขั้น
สร้างระบบของตรรกะที่มีความแม่นยำของสิ่งต่างๆ ในแต่ละหมวดหมู่
Extraverted Thinking (Te)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ภายนอกอย่างเป็นกลาง โดยสร้างความเป็นระบบ การจัดการ และการจัดลำดับข้อมูลให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งมักจะเป็นการประเมินค่า ตัดสินใจ ไปสู่ข้อสรุป ด้วยตรรกะและระบบแบบทวิลักษณ์ (เช่นถูก/ผิด, ควร/ไม่ควร, ดี/เลว เป็นต้น)
มองหาเหตุผล ตรรกะ โครงสร้าง การจัดการให้กับโลกภายนอก
เลือกและพัฒนามาตรฐานในกระบวนการตัดสินใจ
Introverted Feeling (Fi)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะเน้นไปที่ระบบคุณค่าแบบสัมบูรณ์ที่เกิดจากโลกภายใน และประเมินความเหมาะสมของสิ่งต่างๆ ผ่านระบบคุณค่าที่มี ว่าสิ่งต่างๆ ส่งเสริมคุณค่าภายในที่มี ไม่ส่งผลต่อคุณค่าเหล่านั้น หรือต่อต้านคุณค่าที่มีอยู่แล้ว
ใช้คุณค่าของตนเองเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ
เชื่อมโยงกับคนอื่นในระดับบุคคลด้วยการเข้าไปเข้าใจคุณค่าภายในของคนอื่น
Extraverted Feeling (Fe)
ฟังก์ชั่นนี้ทำหน้าที่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ภายนอกิอย่างเป็นกลาง ผ่านค่านิยม คุณค่าของสังคม หรือระบบการให้คุณค่าบางอย่าง โดยฟังก์ชั่น Fe จะช่วยจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ผ่านการพิจารณาจากคุณค่า หรือปริมาณเชิงคุณภาพ
ให้ความสนใจไปที่ผู้คน และความสัมพันธ์ของคนที่อยู่รอบข้าง
ใช้คุณค่าทางสังคม บรรทัดฐาน ค่านิยม และวัฒนธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจ
กระบวนการที่เกิดขึ้นจาก cognitive function ทั้ง 8 ฟังก์ชั่นนี้จะแตกต่างกันออกไปในคนแต่ละ type ตามทฤษฎีบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ และนำมาสู่คำอธิบายของลักษณะของบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบในที่สุด
นอกจากนั้นการพัฒนา cognitive function ที่แต่ละคนมีนั้นมีความแตกต่างกัน นั่นหมายความว่าแม้ว่าคุณจะเป็นคนใน type เดียวกัน แต่ก็มีความถนัดและพัฒนาการใน cognitive function แต่ละฟังก์ชั่นที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรม การแสดงออก และบุคลิกภาพของคนใน type เดียวกันนั้นแตกต่างกันออกไป
Related Topics
แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม
Drenth, A.J. 2014. My True Type. Inquire Books.
Hunziker, Leona Hass and Mark. 2014. Building blocks of personality type.
Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้
Comments