Highlights
ผู้นำสไตล์ SJ มองโลกตามความเป็นจริง ให้ความสำคัญกับรายละเอียด ชอบการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง หรือกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน
ผู้นำสไตล์ SP เป็นนักปรับตัวและแก้ปัญหา เปิดกว้างต่อทุกสิ่งที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ผู้นำสไตล์ NF มองโลกด้วยความเป็นไปได้ ชอบเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับผู้คน เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ และยึดมั่นในอุดมคติ
ผู้นำสไตล์ NT เป็นนักวิเคราะห์ เขาพิจารณาทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว และมองหาวิธีที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เขาให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีระบบ และองค์ความรู้เบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
สิ่งที่ผู้นำให้ความสำคัญคือการรู้จักตัวเองเพื่อพัฒนา การรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองจะช่วยทำให้เราวางแนวทางในการเรียนรู้และปรับตัวได้ การมองเห็นจุดแข็งสำหรับผู้นำอาจไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก แต่การเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อคุณเป็นหัวหน้าที่ได้รับการยอมรับแล้ว โอกาสที่คุณจะได้รับ feedback ตรงไปตรงมาจากคนรอบตัวก็ยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไปหากเราไม่ได้เท่าทันจุดอ่อนเหล่านั้น จุดอ่อนเหล่านั้นจะกลายเป็นจุดบอด (blind spot) ที่แก้ไขยากขึ้น และอาจทำให้เกิดความสูญเสียเกิด ซึ่ง MBTI หรือบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้นำสามารถเห็นจุดอ่อนและแนวทางการพัฒนาตัวเองได้
หากคุณต้องการเครื่องมือที่จะช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของคนในทีม คุณสามารถให้บุคลากรได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในหลักสูตร MBTI: 16 Personalities at Work เพื่อเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน สไตล์การทำงานของแต่ละคน และทำให้ทีมของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานร่วมกัน
เนื้อหาในบทความ
ทำความรู้จัก MBTI เบื้องต้น
MBTI หรือบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบเป็นเครื่องมือที่สร้างความเข้าใจของตัวเองจากการทำความเข้าใจกระบวนการทางความคิดที่แต่ละคนถนัด สร้าง self-awareness เพื่อให้เราตระหนักรู้ถึงบุคลิกภาพและความถนัดของตัวเอง
คนที่มีความถนัดแตกต่างกันจะมีการแสดงออก วิธีการมองโลก และแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ผู้นำในบุคลิกภาพแต่ละแบบก็จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันตามความถนัดที่มีอยู่ 4 แบบ โดยสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือความถนัดของตัวเองตาม MBTI ซึ่งจะประกอบไปด้วย
อ่านเพิ่มเติมที่ MBTI แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 แบบคืออะไร? มีทฤษฎีมาจากที่ไหน?
เมื่อเรารู้ความถนัดทั้ง 4 แบบของตัวเองแล้ว เราสามารถทราบบุคลิกภาพของผู้นำของตัวเองในลำดับถัดไปได้
ลักษณะของผู้นำทั้ง 4 ประเภทใน MBTI
ในบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบของ MBTI จะมีผู้นำที่มีลักษณะโดดเด่นอยู่ 4 ประเภทตามความถนัด แบบ SJ, SP, NF และ NT ที่เรียกว่า Temperament ซึ่งได้รับการพัฒนาและนำมาขยายความและเรียบเรียงจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างโดย David Keisey และ Marilyn Bates สิ่งที่สำคัญที่กำหนดสไตล์ของผู้นำแต่ละประเภทนี้คือวิธีการในการรับข้อมูล
ผู้นำที่มีความถนัดแบบ Sensing จะให้ความสนใจกับความเป็นจริง สถานการณ์ในปัจจุบัน และรวมรวมข้อมูลที่จับต้องได้
ผู้นำที่มีความถนัดแบบ Intuition จะให้ความสนใจกับวิศัยทัศน์ ความเป็นไปได้ และโอกาสที่อยู่ข้างหน้า
หลังจากนั้นผู้นำแต่ละแบบจะมีการแสดงออก พฤติกรรม จุดแข็ง และจุดอ่อนที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดในคู่ Thinking (T) – Feeling (F) และ Judging (J) – Perceiving (P)
โดยลักษณะของผู้นำทั้ง 4 แบบใน MBTI ตาม Temperament มีดังนี้
ผู้นำสไตล์ SJ ผู้ชื่นชอบระบบองค์กร ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ
ผู้นำสไตล์ SP นักแก้ปัญหา ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ
ผู้นำสไตล์ NF ผู้เชื่อมโยงผู้คน ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ
ผู้นำสไตล์ NT นักสร้างประสิทธิภาพ ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ
ผู้นำสไตล์ SJ - ผู้ชื่นชอบระบบองค์กร
บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะความป็นผู้นำแบบ SJ ได้แก่
ผู้นำสไตล์ SJ มองโลกตามความเป็นจริง ให้ความสำคัญกับรายละเอียด ชอบการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง หรือกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน
ผู้นำแบบ SJ เป็นคนที่จะเน้นย้ำความสำคัญของรายละเอียดอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณและระยะเวลาในการทำงาน ในระหว่างการทำงาน หากเขาพบว่างานใดยังไม่มีระเบียบ หรือแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ผู้นำแบบ SJ มักจะเป็นคนที่พร้อมที่จะทำสิ่งเหล่านั้นก่อนเป็นอันดับแรก
วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ SJ
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ SJ ชอบทำงานที่เป็นระบบ มีโครงสร้าง พวกเขาต้องการรู้ว่าใครมีอำนาจ และเป็นหัวหน้าของเขาเพื่อที่จะทำงานให้ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อต้องลงมือทำงานใหม่ๆ พวกเขาต้องการเห็นแนวทางการปฏิบัติงานหรือเห็นตัวอย่างก่อนที่จะทำงานเหล่านั้น ซึ่งตัวอย่างที่สามารถแสดงให้เขาเห็นเป็นลำดับขั้นจะช่วยทำให้เขาคุ้นเคยและทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ SJ ให้ความสำคัญ
ผู้นำแบบ SJ ให้ความสำคัญกับระบบ โครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรมองค์กรที่ดี โดยเขามักจะพิจารณาถึงตำแหน่ง เงินเดือน ความอาวุโส ชื่อเสียง หรือรางวัลเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดความสำเร็จความก้าวหน้าในการทำงาน
นอกจากนั้นผู้นำแบบ SJ ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติอยู่เสมอ พวกเขามักจะไม่ค่อยสนใจไอเดียที่ดูห่างไกลจากความเป็นจริง หรือแนวความคิดที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน
จุดแข็งของผู้นำสไตล์ SJ
มีความรับผิดชอบสูง
เป็นนักลงมือปฏิบัติ
มีระบบการทำงาน ให้ความสำคัญโครงสร้างในการทำงาน
จดจ่อกับรายละเอียดได้ดี
เข้าใจคุณค่าที่ดีและสมเหตุสมผลของวัฒนธรรมในองค์กร
จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ SJ
การวางแผนในระยะยาว
อาจไม่ชอบออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone)
การเห็นความเชื่อมโยงในงานที่ลงมือทำกับบริบทอื่นๆ
การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
อาจยึดติดกับระบบการทำงานมากเกินไปจนเกิดความล่าช้าหรือขั้นตอนที่ซับซ้อน
แนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้นำแบบ SJ
ผู้นำแบบ SJ เป็นผู้นำที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงมากที่สุดใน MBTI ดังนั้นหากเขาได้ให้พื้นที่กับการลงมือทำให้สิ่งที่อยู่นอกความความคุ้นเคย จะช่วยทำให้ทีมมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้
ผู้นำสไตล์ SP - นักแก้ปัญหา
บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะควาเมป็นผู้นำแบบ SP ได้แก่
ผู้นำสไตล์ SP ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ชอบปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เป็นผู้นำที่เปิดกว้างต่อทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ การอบรม วิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้องค์กรได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
ผู้นำสไตล์ SP เป็นคนที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง หากมีปัญหาเกิดขึ้นภายในองค์กร เขาพร้อมที่จะลงมือช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็ว และเมื่อเขาแก้ไขปัญหาอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็มักจะทำให้พนักงานคนอื่นทึ่งในกระบวนการที่เขามักจะใช้ในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ เพราะส่วนใหญ่เขามักจะใช้วิธีการที่เรียบง่าย แต่ได้ผลดี
วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ SP
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ SP มักเริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูล หาหลักฐาน หรือกรณีศึกษา มาพิจารณาก่อนลงมือทำ เขาชอบเห็นตัวอย่างหรือแนวทางการปฏิบัติในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ชอบทำงานตามแนวทางการปฏิบัติเหล่านั้น เพราะเขาต้องการอิสระในการปรับเปลี่ยนการทำงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ SP ให้ความสำคัญ
ผู้นำสไตล์ SP ให้ความสำคัญกับอิสระภาพในการทำงาน เขามักจะให้แต่ละคนมีอิสระภาพในการทำงานของตัวเองให้มากที่สุด มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์จากการทำงาน นอกจากนั้นผู้นำสไตล์ SP ยังให้ความสำคัญกับการรับข้อมูลใหม่อยู่เสมอ เขาสามารถปรับเปลี่ยนแผนการได้อย่างยืดหยุ่น หากเขารู้ว่าทิศทางที่กำลังจะไปมีความสำคัญมากกว่า
จุดแข็งของผู้นำสไตล์ SP
การเปิดรับต่อสิ่งใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ
เป็นนักแก้ปัญหา แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
มองโลกในปัจจุบัน สร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้ในทันที
ยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี
ให้อิสระภาพกับทุกคนในการเป็นตัวของตัวเอง
จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ SP
การวางแผนระยะยาว
ขาดระบบ โครงสร้างในการทำงาน
การทำงานกับสิ่งที่เป็นทฤษฎี
บางครั้งอาจไม่ได้ตัดสินใจให้เด็ดขาด
อาจให้ความสำคัญกับความสนุกสนานรื่นเริงมากเกินไป
แนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้นำแบบ SP
ผู้นำแบบ SP เป็นผู้นำที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมากใน MBTI แต่มีจุดอ่อนในการวางแผนระยะยาวและเห็นความเชื่อมโยง ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของเขาคือการมองเห็นความเชื่อมโยง มองเห็นภาพรวม ของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้นำสไตล์ SP ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับระบบ โครงสร้าง ของการปฏิบัติงานมากนัก หากพวกเขาให้ความสำคัญกับระบบ การทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนก็จะช่วยทำให้ลดความสับสนหรือการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันได้
ผู้นำสไตล์ NF - ผู้เชื่อมโยงผู้คน
บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะความป็นผู้นำแบบ NF ได้แก่
ผู้นำสไตล์ NF มองโลกด้วยความเป็นไปได้ เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับคุณค่าและผู้คน เป็นคนที่ ยึดมั่นในอุดมคติ ต้องการทำงานและต้องการสร้างประโยชน์ให้กับโลกนี้ไปพร้อมๆ กัน
ผู้นำแบบ NF มักจะมองโลกในแง่ดี มีความอบอุ่น ทำให้ผู้คนที่อยู่รอบข้างสามารถรับฟังความคิดเห็นและเชื่อมมั่นในตัวเขาได้เป็นอย่างดี พวกเขาต้องการเชื่อมโยงสิ่งที่เขาทำเข้ากับผู้คน ทำในสิ่งที่ความหมาย และเขาก็จะมีแรงบันดาลใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหากเขาได้ทำตามสิ่งที่เสียงหัวใจของตัวเองเรียกร้อง
วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ NF
วิธีการทำงานของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ NF มักจะเริ่มต้นด้วยการหาความเป็นไปได้ และความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการทำให้เกิดกับผู้คน เขาเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจในที่ทำงาน (empathy) ค่อนข้างสูง ชอบช่วยเหลือคนอื่น เขาให้ความสำคัญกับการดูแลความสัมพันธ์มากพอๆ กับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ NF ให้ความสำคัญ
สิ่งที่ผู้นำแบบ NF ให้ความสำคัญคือผู้คนและความเป็นไปได้ พวกเขามองหน้าที่ งาน สินค้าในรูปแบบที่เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับผู้คน ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ผู้นำแบบ NF ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์และความเป็นหนึ่งเดียวกันมาก
จุดแข็งของผู้นำสไตล์ NF
เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ
มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือคนอื่น
มีความสามารถในการสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก
มีความเป็นมิตรและเข้ากับคนอื่นได้ดี
ช่วยทำให้ลูกน้องและคนที่อยู่รอบข้างแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่
จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ NF
บางครั้งมีแนวคิดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
รู้สึกไม่มีความหมายหากทำงานที่ไม่เห็นผลกระทบต่อผู้คนที่ชัดเจน
อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ หรือ feedback เชิงลบ
อาจยึดมั่นในอุดมคติในการทำงานมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ
แนวทางการพัฒนาและเติบโตของผู้นำสไตล์ NF
ผู้นำแบบ NF ใน MBTI เป็นผู้นำที่มีมนุษย์สัมพันธ์ค่อนข้างดี และสามารถให้แรงบันดาลใจลูกน้องได้เก่ง โดยที่ประสิทธิภาพในการทำงานจะมีสูงขึ้น หากพวกเขาให้ความสำคัญกับวิธีการวัดและประเมินที่ตรงไปตรงมามากขึ้น
ผู้นำสไตล์ NT - นักสร้างประสิทธิภาพ
บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะความป็นผู้นำแบบ NT ได้แก่
ผู้นำสไตล์ NT ชอบวิเคราะห์ทุกสิ่งรอบตัวที่เขาได้พบ และพยายามหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ค้นหาระบบ การจัดการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด มักจะมีคำถามว่า "ทำไม?" กับทุกเรื่องที่พบ
ผู้นำแบบ NT เป็นคนที่มีมาตรฐานสูง พวกเขาให้คุณค่ากับความมีประสิทธิภาพเหนือสิ่งอื่นใด ชอบความท้าทาย มักจะคิดวิเคราะห์หาทฤษฎีหรือระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้พวกเขาอาจดูเหมือนเป็นคนที่ช่างวิจารณ์ เพราะเขามองเห็นการพัฒนาทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ NT
วิธีการทำงานของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ NT มักจะเริ่มต้นด้วยการวางแผนและค้นหาข้อมูล พวกเขารวบรวมข้อมูลและลงมือหาทางพัฒนาวิธีการทำงานใหม่ๆ ราวกับว่างานชิ้นนั้นเป็นงานทดลองที่อยู่ในห้องปฏิบัติการของเขา เมื่อเขาได้เรียนรู้จนพอใจแล้ว พวกเขาจึงจะลงมือวางแผนและทำงานตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มา
สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ NT ให้ความสำคัญ
สิ่งที่ผู้นำแบบ NT ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพมากที่สุด หากเขารู้ว่าใครมีความสามารถแล้ว เขาจะไม่สนใจความมีชื่อเสียงหรือตำแหน่งของคนเหล่านั้น และในทางกลับกันหากเขามองว่าใครไม่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าคนเหล่านั้นจะมีชื่อเสียงมากแค่ไหน แต่เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญเลย นอกจากนั้นเขายังเป็นคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับองค์ความรู้และการพัฒนาตัวเองมาก เขาพร้อมที่จะสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียนรู้แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นทฤษฎีที่จับต้องได้ยากก็ตาม
จุดแข็งของผู้นำสไตล์ NT
การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ
มองภาพรวม มองการณ์ไกลในระยะยาว
มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
มีความคิดสร้างสรรค์
ทำงานที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีและนามธรรมได้ดี
จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ NT
อาจละเลยสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
ใช้เวลาในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ มากเกินความจำเป็น
ไม่ค่อยตระหนักถึงความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำงาน
อาจมีไอเดียมากมาย แต่ไม่สามารถลงมือทำได้
แผนการอาจขาดรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
แนวทางการพัฒนาและเติบโตของผู้นำสไตล์ NT
ผู้นำแบบ NT เป็นผู้นำที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน บางครั้งพวกเขาคิดว่าการแยกอารมณ์ความรู้สึกออกจากงานจะแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ แต่แท้จริงแล้วหากทีมงานได้รับการดูแลและมีพื้นที่ให้แสดงออกทางความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม จะช่วยทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นมิตร มีแรงบันดาลใจและเต็มไปด้วยความสุขมากขึ้นได้
การเข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละไทป์ในบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบจะช่วยทำให้ทุกคนในทีมสามารถตระหนักรู้วิธีการทำงานของตัวเองที่แต่ละคนมักจะยึดติด ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจร่วมกันในทีม ทำให้เกิดการทำงานร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในหลักสูตร MBTI: 16 Personalities at Work จะช่วยทำให้คุณรู้จักความถนัดเหล่านี้ ค้นพบบุคลิกภาพของตัวเอง และเข้าใจวิธีการมองโลกของคนแต่ละแบบ เพื่อปรับตัวและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้
Related Topics
แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม
Otto Kroeger, Janet M. Thuesen, Hile Rutledge. 2002. Type Talk at Work. New York: Dell Publishing.
Myers, Isabel Briggs. n.d. Introduction to Myers-Briggs Type. The Myers-Briggs Company Pty Ltd.
Tieger, Paul D. Tieger and Barbara Barron. 1999. The Art of Speed Reading People. New York: Little, Brown and Company.
Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้