หลักการของสุนทรียสนทนา หรือ dialogue คือ หลักการฝึกฝนสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วม dialogue โดยหลักการเหล่านี้ William Isaacs ได้นำทฤษฏีของ David Bohm มาทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายในเชิงการปฏิบัติ จนเกิดเป็นหลักการสำหรับฝึกปฏิบัติเมื่ออยู่ใน dialogue ดังนี้
Deep Listening
Deep listening หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังวงสุนทรียสนทนาโดยไม่แยกขาดตัวเราออกจากวงสุนทรียสนทนา ให้เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงสุนทรียสนทนาขณะที่เป็นผู้เล่าหรือผู้ฟัง เราจะสามารถมองเห็นสิ่งความเชื่อมโยงของส่วนประกอบทุกอย่างภายในวงสุนทรียสนทนา ไม่เพียงแต่เฉพาะคำพูดที่ส่งผ่านออกมาจากผู้เล่า ในการฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
รับรู้ความคิดที่เกิดขึ้น
สังเกตความคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นตอนไหน ความคิดที่เกิดขึ้นขณะที่เรากำลังเล่าหรือรับฟังเป็นอย่างไร ฟังเสียงของความคิด รูปแบบและข้อจำกัดของความคิดตัวเอง
อยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
อยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือการฟังสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่เข้าไปด่วนสรุปหรือตัดสินสิ่งเหล่านั้น บ่อยครั้งที่เราตัดสินว่าความคิดเห็นที่เกิดขึ้นของเราเป็นจริง โดยไม่ได้ตรวจสอบหรือพิสูจน์มันด้วยการทดสอบ เพราะเรามักจะมองหาส่วนประกอบหรือข้อสนับสนุนที่ทำให้ความคิดของเราถูก ไม่ใช่ข้อสนับสนุนที่ทำให้ความคิดของเราผิด
ติดตามดูสิ่งรบกวนที่เกิดขึ้น
การมองเข้าไปยังสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมีความรู้สึกหรืออารมณ์บางอย่างมารบกวนภายใน เผชิญหน้ากับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของอารมณ์ เฝ้ามองสิ่งเหล่านั้น และดูว่าผู้อื่นมีประสบการณ์อย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของพวกเขา
ฟังโดยไม่ต้านทาน
เมื่อมีปฏิกิริยาหรือความรู้สึกต้านทานใดๆ เกิดขึ้น ให้วางปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และความรู้สึกต้านทานหรือปฏิเสธสิ่งที่กำลังฟังไว้ข้างๆ ก่อน เพียงแค่รับรู้การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น และกลับมาฟังต่อ
บ่มเพาะความมั่นคง
หล่อเลี้ยงความเงียบภายใน โดยการทำสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเพื่อให้อยู่เหนือเสียงภายในที่คอยรบกวนขณะที่ฟัง
การพูดคุยใน dialogue เราจะมีการสนทนากับวงสุนทรียสนทนาทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ฟังสิ่งที่ผู้อื่นกำลังพูด และเราจะเล่าให้กับทั้งวงสุนทรียสนทนาฟังไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อเป็นการฝึกให้เราได้รับรู้ถึง wholeness (ความเป็นทั้งหมด)
Respecting
Respecting หรือความเคารพ คือการเคารพในความหลากหลายและความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยหรือการแสดงออกของต่อต้านกับสิ่งที่เราได้พูด ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับทั้งตนเองและคนอื่น คุณสามารถทำได้ด้วยการตั้งใจที่จะมองเข้าไปในบางสิ่งอีกครั้ง และเข้าใจว่ามีอะไรบางอย่างสร้างประสบการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น
ในการสนทนาแบบ dialogue เราจะมีส่วนร่วมในการหาความเป็นหนึ่งเดียวหรือ wholeness ของธรรมชาติ ด้วยการยอมรับความเห็นที่หลากหลายในแต่ละมุมมอง ไม่ใช่ความแตกแยกเป็นสองขั้ว, มุมมองที่ต่างกัน, ไม่ได้อยู่ร่วมกัน หรือไม่ได้เป็นส่วนเดียวกัน โดยเราสามารถปฏิบัติตามหลักเหล่านี้เพื่อฝึกทักษะ respecting ได้
Stand at the hub
Stand at the hub คือการให้ความรู้ตัวของเราอยู่ตรงกลางระหว่างอดีตและอนาคตที่หมุนไปมาในรูปแบบของความคิด เพื่อที่จะให้เราสามารถอยู่กับคนข้างหน้าได้อย่างแท้จริงตามที่พวกเขาเป็น
ความเป็นศูนย์กลาง
ความเป็นศูนย์กลางหรือ centering คือความมั่นคงแต่ยืดหยุ่น เหมือนกับที่ศิลปะป้องกันตัวได้ฝึกฝน โดยการมี centering จะช่วยทำให้เราไม่ไหลตามไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ฟังให้เหมือนกับทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง
เป็นการอยู่ในโลกภายในของตัวเอง โดยที่เราสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในคนอื่น เราจะพยายามตรวจสอบความคิด คววามรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อค้นหาว่าพวกเราอาจมีบางสิ่งที่เหมือนกัน และจะทำให้ง่ายต่อรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในผู้อื่น แต่ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเห็นด้วย
ทำให้แปลกใจ
การสร้างความรู้สึกแปลกใจให้กับคนอื่นเป็นโอกาสทำให้พวกเขามีประสบการณ์ใหม่กับเรื่องราวเหล่านั้นได้ เพราะการเข้าไปสู่ความเข้าใจในทันทีอาจทำให้ความคิดหรือความเคยชินเดิมๆ ได้เข้าไปมีบทบาทกับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว การทำให้แปลกใจอาจสามารถทำได้ด้วยการตั้งคำถาม เล่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ความเคารพมีบทบาทสำคัญมากใน dialogue ความเคารพจะนำมาซึ่งความหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์ที่เป็นปัจเจก ซึ่งจะทำให้มีหลากหลายมุมมองในวงสุนทรียสนทนา และทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง นอกจากนี้ Isaacs ได้แนะนำอีกด้วยว่าการให้ความตึงเครียดเกิดขึ้นใน dialogue เป็นสิ่งสำคัญ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะคลายความตึงเครียดเหล่านั้น เพราะบางครั้งความตึงเครียดอาจทำให้เกิดพื้นที่ในการเรียนรู้และความเข้าใจใหม่
Suspending
Suspending หรือการห้อยแขวน คือการรับรู้และเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก ความมั่นใจ การตัดสิน เสียงหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะได้รับการอนุญาตให้เกิดขึ้น เพื่อที่เราและคนอื่นจะสามารถมองเห็น และทำความเข้าใจได้ สิ่งที่เราคิดไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น และไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรา
Isaacs ได้เสนอระดับของ suspending ไว้ว่าในขั้นแรกคือการเปิดรับเนื้อหาของสิ่งที่เกิดขึ้นที่เราสามารถรับรู้ได้ เช่นความคิด ความรู้สึก ความเห็น เพื่อที่เราจะสามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ในขั้นถัดไปคือการรับรู้หรือตระหนักรู้ว่าความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในคนๆ หนึ่งเป็นสิ่งที่มีความเป็นปัจเจกเฉพาะในบริบทของประสบการณ์และความทรงจำ ดังนั้นความคิดเหล่านี้คือผลผลิตของสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ความจริงของโลกภายนอก เราสามารถปฏิบัติตามหลักเหล่านี้เพื่อฝึกฝน suspending ใน dialogue ได้
ห้อยแขวนความแน่นอน
คือการมองความคิดว่าเป็นเสมือนสิ่งๆ หนึ่ง ไม่ใช่เป็นแผนที่ของโลกภายนอก และถามเกี่ยวกับสิ่งที่เรามีความมั่นใจกับมัน
มองหาสิ่งที่วางอยู่รอบๆ
ห้อยแขวนความแตกต่าง การแบ่งแยกเป็นขั้ว และมองหาสิ่งที่อยู่ระหว่างและอยู่รอบๆ ของสิ่งเหล่านั้น เพราะในวัฒนธรรมของเรายึดติดกับ positioning ใน dialogue ความคิดแบบ positional thinking จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น ไม่ได้เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันเพื่อที่จะหาคำตอบที่ถูกต้อง
Re-framing
Re-framing เพื่อเปลี่ยนมุมมองของความคิด โดยพยายามมองผู้คนด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน
นำความคิดออกมาสู่ภายนอก การนำความคิดหรือปัญหาข้อถกเถียงของเราออกมาสู่ภายนอกช่วยทำให้เราสามารถทำงานกับมันได้อย่างเป็นกลุ่ม
ถามคำถามว่า อะไรที่เราขาดหายหรือหลงลืมไป? ปัญหานี้มันมีการดำเนินไปอย่างไร?
การพิจารณาว่าอะไรที่หายไปอย่างเป็นระบบในการสนทนาว่า ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเกิดขึ้นในปัญหาเป็นอย่างไร แทนที่จะมองหาทางแก้ปัญหาในทันที
Voicing
Voicing คือ การเปิดเผยเสียงที่อยู่ภายใน สามารถทำได้ด้วยการกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวภายในเพื่อที่จะพูดออกไป เพราะการพูดหรือการเล่าเริ่มต้นจากการฟังเสียงจากภายใน โดยการฟังอย่างใส่ใจเราจะสามารถเลือกได้ว่าจะพูดอะไรและไม่พูดอะไร ณ ตอนนั้น ความเงียบเป็นสิ่งที่เหมือนทำให้ความคิดค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาก่อนที่จะได้สื่อสารออกไปไม่ใช่เป็นเพียงความไม่รู้หรือความไม่มี ในทางกลับกันในบริบทอื่นๆ เราสามารถพูดหลากหลายสิ่งโดยที่เราไม่ได้รู้เกี่ยวกับสิ่งๆ นั้นได้ว่าเรากำลังต้องการอะไร หรือเราสื่อสารอะไร เราสามารถปฏิบัติตามหลักเหล่านี้เพื่อฝึกฝน voicing ได้
บรรเลงบทเพลงของคุณ
ค้นหาและมีความกล้าที่จะพูดเสียงของตัวเองเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับหลายคน โดยเฉพาะกับเรื่องที่มีความเปราะบาง เราอาจสามารถถามได้ว่าถ้าหากเราไม่พูดเรื่องนี้แล้วใครจะพูด
พิจารณาความเสี่ยง
พิจารณาดูว่าอะไรเป็นความเสี่ยงหากเราพูดหรือไม่พูด ลองดูสิ่งที่เราพยายามต้องการสร้างขึ้น
Improvisation
พูดจากความทรงจำหรือประสบการณ์ โดยไม่ต้องมีการเรียบเรียงใดๆ ก่อนเช่นเดียวกันกับการ improvise ในดนตรี
ถามว่าฉันอยากรู้ไปเพื่ออะไร
เพื่อที่ทำให้เรากลับมาอยู่ภายในกับสิ่งที่เราใส่ใจจริงๆและเตรียมตัวที่จะพูดเสียงของเราออกไป
สำหรับ voicing เราสามารถนึกถึงอะไรสิ่งที่มีความ “สด เปลือย เปราะบาง” ภายในจิตใจของเรา
สด หมายถึงการพูดหรือเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ใช่การนำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นหรือปัจจุบันมาเล่า
เปลือย หมายถึงการพูดสิ่งที่มากจากตัวเองโดยไม่ได้มีเครื่องป้องกันมาห่อหุ้มให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย
เปราะบาง หมายถึงการได้มีโอกาสเข้าไปอยู่กับความยากลำบากในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น
ใน dialogue การพูดจะถูกใช้สำหรับการสร้าง pool (กลุ่ม) ของความหมายร่วมด้วยกัน การพูดและสื่อสารให้กับวงสนาทนาจะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกันกับความเป็นทุกส่วนของวง dialogue และทำให้ทุกคนสามารถแบ่งปันให้กับความเป็นทั้งหมดได้
หากคุณมีความเข้าใจหลักปฏิบัติของสุนทรียสนทนาแล้ว คุณสามารถเริ่มต้นวงสุนทรียสนทนาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร หรือชุมชนของคุณ โดยดูคำแนะนำจากกระบวนการของสุนทรียสนทนาสำหรับผู้เริ่มต้นได้
Related Topics
#Dialogue #DeepListening #Respecting #Suspending #Voicing #สุนทรียสนทนา #ฟังอย่างลึกซึ้ง #เคารพ #ห้อยแขวน #เปิดเผยเสียงภายใน
Urbinner เป็นพื้นที่ที่ให้บุคคลทั่วไปและองค์กรได้เรียนรู้ความสุขที่มั่นคง โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล การตระหนักรู้้และเติบโตร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้
Comments